ถ้าไม่มีพินัยกรรม ใครจะได้รับมรดก?
ถ้าไม่มีพินัยกรรม ใครจะได้รับมรดก?
จากประสบการณ์ในการทำงานของผม พบว่ามีคนจำนวนน้อยมากๆที่ได้มีการวางแผนมรดก แม้แต่พินัยกรรมสักฉบับก็ยังไม่เคยทำ หากมีการเสียชีวิต ใครบ้างที่จะได้รับมรดก และใครบ้างที่ไม่มีสิทธิ์จะได้เลยแม้แต่บาทเดียว?
โดยปกติที่เห็นกันทั่วไปพ่อแม่พี่น้องจะไม่ค่อยเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินของครอบครัวผู้เสียชีวิต คู่สมรสและบุตรควรจะได้รับและจัดการกันเอง แต่ก็มีไม่น้อยที่จะมีญาติบางคนมาแสดงความสนิทสนมกันตอนนี้ ทั้งที่เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยจะมาให้เจอหน้ากันเท่าไหร่ มิหนำซ้ำยังมาเรียกร้องขอส่วนแบ่งในกองมรดกด้วย
ถ้าผู้เสียชีวิตได้มีการทำพินัยกรรมไว้ ก็จะต้องแบ่งมรดกไปตามนั้น แต่ถ้าไม่มี…จะจัดการกันยังไง?
อันดับแรก สมาชิกครอบครัวอาจรวมถึงญาติพี่น้องจะต้องมาคุยเพื่อตกลงจัดการกันเองก่อน ถ้ามีความเห็นตรงกันก็สามารถทำข้อตกลงในการแบ่งมรดก และหาใครสักคนเป็นผู้จัดการมรดกโดยยื่นคำร้องต่อศาลให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดก
แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ที่ว่าด้วยเรื่องทายาทโดยธรรมมาใช้ ซึ่งทายาทโดยธรรมทั้งหมดมี 6 ลำดับ เรียงตั้งแต่ใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตที่สุดและค่อยเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ห่างออกไปตามลำดับ
ลำดับ 1 : ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน …) และ คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส)
ลำดับ 2 : บิดา มารดา ของผู้เสียชีวิต
ลำดับ 3 : พี่น้องร่วมบิดา “และ” มารดา (พ่อแม่เดียวกัน)
ลำดับ 4 : พี่น้องร่วมบิดา “หรือ” มารดา (พ่อเดียวกันแต่คนละแม่ / แม่เดียวกันแต่คนละพ่อ)
ลำดับ 5 : ปู่ ย่า ตา ยาย ของผู้เสียชีวิต
ลำดับ 6 : ลุง ป้า น้า อา ของผู้เสียชีวิต
มรดกจะถูกแบ่งให้ทายาทโดยธรรมลำดับแรกๆก่อน ลำดับที่อยู่ถัดไปหมดสิทธิ์ครับ แล้วจะแบ่งยังไง? จะมาทะยอยเล่าให้ฟังในโพสต่อๆไปนะครับ
พูดได้เลยว่า ใครที่อยู่นอกเหนือจาก 6 ลำดับนี้ ไม่ต้องไปเรียกร้องอะไรเลยเพราะไม่มีสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น มีแค่บางกรณีเท่านั้นที่สามารถเข้ามาเป็นทายาทโดยธรรมด้วยสถานการณ์พิเศษ
เราจะได้มรดกของใคร และ ใครจะได้มรดกของเรา ลองสำรวจกันดูนะครับ
พัชภัคกร สุรรัตน์ FChFP, ChLP
Financial Advisor
#วางแผนการเงิน #FinancialPlanning
#นักวางแผนการเงิน #ที่ปรึกษาการเงิน
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น