“ทุนประกันชีวิต มากแค่ไหนก็ปลอดภาษี”
“ทุนประกันชีวิต มากแค่ไหนก็ปลอดภาษี”
จากประสบการณ์ที่ผมได้วางแผนมรดกให้ลูกค้ามาหลายราย พบว่าประกันชีวิตเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการมรดกได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำได้ง่ายมากๆ น้องๆหลายคนได้เรียนจากผมและออกไปวางแผนให้ลูกค้า ซึ่งหลายคนได้ซื้อทุนประกันไว้สูงมาก และพบคำถามจากลูกค้าคล้ายๆกันว่า “จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทายาทจะไม่ต้องแบกรับภาษีจากเงินก้อนนี้จริงๆ?”
ผมจึงขอสรุปให้เข้าใจตามนี้นะครับ
ปลอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“ทุนประกันชีวิต” ที่บริษัทประกันจ่ายให้ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนมากแค่ไหน ผู้รับประโยชน์ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวน ดังที่ได้ระบุไว้ในประมวลรัษฎากร ดังนี้ครับ
“เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร (13) ได้แก่ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัย หรือการฌาปนกิจสงเคราะห์”
ปลอดภาษีการรับมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.897 ระบุว่า
“ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”
ผมแปลให้เข้าใจง่ายๆแบบนี้ครับ...
- ถ้าไม่ได้มีการระบุชื่อผู้รับประโยชน์ หรือ ผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกัน ทุนประกันชีวิตจะถูกนำไปรวมกับกองมรดก แบบนี้ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อคิดภาษีการรับมรดกนะครับ
- แต่ถ้ามีการระบุผู้รับประโยชน์ไว้ชัดเจนและผู้รับประโยชน์ยังมีชีวิตอยู่ ทุนประกันชีวิตจะถูกส่งมอบให้ผู้รับประโยชน์โดยตรง ไม่ต้องไปยุ่งกับกองมรดก แบบนี้ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกครับ กรณีที่มีเจ้าหนี้ของผู้เอาประกันมาฟ้องร้องให้ผู้รับประโยชน์จ่ายหนี้ จะเรียกร้องเอาได้เฉพาะจำนวนที่ไม่เกินเบี้ยประกันชีวิตที่ได้จ่ายมาแล้วเท่านั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1600 ระบุว่า
“ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
เป็นแบบนี้ครับ...
การที่คนๆหนึ่งจะมีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สินได้ สิทธิ์นั้นต้องเกิดขึ้นตอนที่ยังมีชีวิตเท่านั้น “ทุนประกันชีวิต” เกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันได้เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้เอาประกัน จึงไม่ต้องนำมารวมในกองมรดก แต่จะส่งมอบให้ผู้รับประโยชน์โดยตรง
พรบ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ม.14 ระบุว่า
มรดกซึ่งต้องเสียภาษี ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
1. อสังหาริมทรัพย์
2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
จะเห็นว่า...
ทุนประกันชีวิตไม่อยู่ในทรัพย์สินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีการรับมรดกแม้แต่ข้อเดียว จึงเป็นที่แน่ชัดว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาษีการรับมรดกแน่นอน
อ่านจบแล้ว เข้าใจตรงกันนะครับ
พัชภัคกร สุรรัตน์ : Financial Advisor
Facebook : Financial สบาย สบาย
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น