คอร์สเรียนออนไลน์

ข่าว และ บทความ


“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับ การเงินส่วนตัว”

11 เมษายน 2565 Admin01 SPIDER 0 บทความ

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับ การเงินส่วนตัว”

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ทำให้พสกนิกรที่ได้นำไปใช้มีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตในหลายส่วน

หลังจากที่ได้อ่านและศึกษา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หลายรอบ ทำให้เกิดความคิดว่าหากเรานำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องการเงินส่วนตัวก็สามารถทำให้เราทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นได้แน่นอนครับ

📌 3 ห่วง

1. ความพอประมาณ : ไม่ฟุ้งเฟ้อ

การดำเนินชีวิตจะต้องไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไปกว่ารายได้ ซึ่งก็อาจแตกต่างกันไปเพราะแต่ละคนมีรายได้และความพอใจในชีวิตไม่เหมือนกัน หากจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือเราจะต้อง “ไม่ใช้จ่ายเกินกว่ารายได้” ไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรตามกระแสสังคมหรือคนรอบข้าง นั่นจะทำให้เราไม่มีหนี้สินและมีเงินเหลือเก็บนำไปวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายอื่นในชีวิตต่อไป สามารถเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดคือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย พยายามตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตจริงๆออก ทำให้เราได้มีเงินออมเพิ่มขึ้นด้วย

2. ความมีเหตุผล : ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ

การใช้จ่ายทุกครั้งจะต้องคำนึงว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไปหรือไม่ หลายครั้งที่เราตัดสินใจซื้อของบางอย่างด้วยอารมณ์ สุดท้ายของชิ้นนั้นก็ถูกวางเก็บไว้ที่บ้านโดยไม่ได้มีการนำออกมาใช้เลย หรืออาจซื้อเพราะเห็นคนอื่นเขามีก็อยากมีบ้าง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นขึ้นมา การที่จะจ่ายเงินออกจากกระเป๋าทุกครั้งต้องมีเหตุผลที่มากพอ ชีวิตไม่ได้แย่ลงหรอกครับ แต่จะทำให้มีเงินและความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

3. ภูมิคุ้มกัน : โอนความเสี่ยงทางการเงิน

ชีวิตของเราทุกคนจะมีความเสี่ยงที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอด เราจำเป็นจะต้องเตรียมการรับมือเพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อชีวิต การโอนความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้เราได้เป็นอย่างดี เราใช้เงินก้อนเล็กๆซื้อประกันเพื่อคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และเป็นจำนวนมากแค่ไหน

📌 2 เงื่อนไข

1. ความรู้ : ปิรามิดทางการเงิน

การที่เราจะทำอะไรก็ตามจะต้องศึกษาและลงมือทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งก็รวมถึงความรู้ในการวางแผนการเงินและการลงทุน ควรทำอย่างมีขั้นตอนที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบตามปิรามิดทางการเงิน (Pyramid 0f Financial Planning) เพื่อให้แผนการเงินต่างๆสามารถบรรลุผลตามที่ต้องการ

2. คุณธรรม : ความเพียร

การลงมือทำเพื่อให้บรรลุผลในชีวิตหรือแผนกการเงินต่างๆต้องทำด้วยความเพียร ด้วยความสม่ำเสมอ ด้วยสติปัญญา ด้วยความมีวินัยทางการเงิน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น

ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า

นายพัชภัคกร สุรรัตน์, FChFP

Financial Advisor

Facebook : www.facebook.com/financial.sabai

#Financialสบายสบาย

#ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ที่เกี่ยวข้อง ข่าว

ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น