ภาษีครึ่งปี ตัวแทนประกันชีวิตต้องใส่ใจ
สวัสดีชาว SPIDER ทุกท่าน
วันนี้เรามาพูดถึง...
ภาษีครึ่งปี ตัวแทนประกันชีวิตต้องใส่ใจ
เดือนกันยายนของทุกปี ถือเป็นอีกเดือนที่วุ่นวายสำหรับผู้ที่มีเงินได้ประเภท 40(5)-40( เพราะเป็นเดือนสุดท้ายที่ต้องยื่นภาษีบุคคลธรรมดาครึ่งปี โดยยื่นแบบ ภงด.94 ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ใครบ้างที่ต้องยื่น แล้วมีวิธีการคิดภาษีต่างจากการยื่นภาษีตอนสิ้นปียังไง ในบทความนี้ จะพาไปทำความเข้าใจกันครับ
◉ ทำไมต้องยื่นภาษีครึ่งปี ภงด.94
เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องจ่าย ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ตอนปลายปี
◉ ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีบุคคลธรรมดาครึ่งปี
สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้ ในครึ่งปีแรก รวมกันแล้วเกิน 60,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี
เงินได้ตามมาตรา 40(5) ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
เงินได้ตามมาตรา 40(6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
เงินได้ตามมาตรา 40(7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
เงินได้ตามมาตรา 40( ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
(รูปที่ 1)
◉ การหักค่าใช้จ่าย สำหรับการคำนวณภาษีครึ่งปี
ผู้เสียภาษีมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ
1.เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องแนบเอกสารหลักฐาน ที่สามารถพิสูจน์ตัวผู้รับได้ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี เป็นต้น
2.เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้แต่ละประเภท วิธีนี้ ไม่จำเป็นต้องแนบเอกสารหลักฐานใด ๆ (รูปที่2)
◉ การหักค่าลดหย่อน สำหรับการคำนวณภาษีครึ่งปี
สำหรับการหักค่าลดหย่อน จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ค่าลดหย่อนจริงๆ และค่าลดหย่อนที่ยกเว้นจากเงินได้
ค่าลดหย่อนจริงๆ เป็นค่าลดหย่อนที่ได้จากสิทธิพื้นฐาน เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อนบุตร ค่าอุปการะบิดามารดา เป็นต้น
ค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ สามารถนำมาคิดครึ่งนึงได้ทันที
ค่าลดหย่อนที่ยกเว้นจากเงินได้ เป็นรายการที่ได้รับการยกเว้น และให้นำไปหักออกจากเงินได้ โดยใส่ไว้ในกลุ่มค่าลดหย่อน เช่น เงินที่ซื้อกองทุน LTF, RMF เงินที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. เงินค่าเบี้ยประกันบำนาญ เป็นต้น
ค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ สามารถนำมาหักได้เต็มจำนวน
ค่าลดหย่อนแบบผสมผสาน เป็นค่าลดหย่อนที่ผสมผสานระหว่างค่าลดหย่อนจริงๆ กับค่าลดหย่อนที่ยกเว้นจากเงินได้ เช่น เบี้ยประกันชีวิต จะหักค่าลดหย่อนจริงๆ ได้ 10,000 บาท (เวลาคิดภาษีครึ่งปี จึงคิดเพียง 5,000 บาท) และหักค่าลดหย่อนที่ยกเว้นจากเงินได้อีก 90,000 บาท (สามารถหักได้เต็ม) ดังนั้น จึงสามารถหักค่าลดหย่อนได้ทั้งสิ้น 95,000 บาท
ท่านสามารถตรวจสอบค่าลดหย่อนต่างๆ ได้จากตาราง (รูปที่3)
◉ การคำนวณภาษี ต้องคำนวณทั้ง 2 วิธี
วิธีที่ 1: คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ ตามสูตร
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน - เงินบริจาค
ภาษี = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามขั้นบันได)
วิธีที่ 2: คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน ตามสูตร
ภาษี = เงินได้พึงประเมิน 40(5)-( x 0.5%
กรณีที่คำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้ว ภาษีไม่ถึง 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1
(รูปที่4)
ให้คำนวณภาษีทั้ง 2 วิธีเปรียบเทียบกัน แล้วให้ชำระภาษีตามวิธีที่คำนวณได้ “มากกว่า”
จะเห็นได้ว่า การคิดภาษีครึ่งปี มีหลักการคิดที่ซับซ้อนกว่าการคิดภาษีปลายปี ดังนั้น ผู้เสียภาษีควรทำความเข้าใจในเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง
เหนือสิ่งอื่นใด การคำนวณภาษีกลางปี จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ถึงการเงินของเราได้อย่างคร่าวๆ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะทำให้เราได้มีเวลา เพื่อวางแผนภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการยื่นภาษีปลายปีอีกด้วยครับ
ขอบคุณบทความจาก : Money Perfect
https://www.facebook.com/moneyperfectthailand/
#SpiderPlanet
#SpiderPlan
#ภงด94 #ภาษีครึ่งปี
#ภาษีรอบตัวเรา
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น