“ลดหย่อนเบี้ยสุขภาพ 25,000 บาท ตัวไหนได้บ้าง?”
“ลดหย่อนเบี้ยสุขภาพ 25,000 บาท ตัวไหนได้บ้าง?”
ตามที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 365 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีผลสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2563/A/043/T_0001.PDF
หลายคนอาจเข้าใจว่านำมาใช้ได้ทุกความคุ้มครองที่มีอยู่ในกรมธรรม์ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นนะครับ มาทำความเข้าใจกันสักหน่อยนะครับว่า เบี้ยประกันสุขภาพตัวใดบ้างที่นำมาลดหย่อน “ได้” และ “ไม่ได้”
ลดหย่อนได้
1. ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ
1.1 ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ค่าห้อง ค่ายา ค่าผ่าตัด ฯลฯ หรือหากเป็นสัญญาเพิ่มเติมประเภท Unit Deducting Rider (UDR) ที่ซื้อแนบกับแบบประกันประเภท Unit-linked จะนำมาลดหย่อนได้เฉพาะเบี้ยประกันในส่วนของ Cost of Rider (COR) เท่านั้น
1.2 ค่าชดเชยจากการที่ต้องตกเป็นบุคคลทุพพลภาพชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
1.3 ค่าชดเชยจากการสูญเสียอวัยวะ โดยทั่วไปอวัยวะที่เข้าข่ายตามเงื่อนไปของกรมธรรม์จะเป็นส่วนที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต เช่น แขา ขา ตา เป็นต้น
1.4 ค่าชดเชยจากกระดูกแตกหักเนื่องจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะจ่ายค่าชดเชยหากกระดูกมีการแตกหักตามเงื่อนไข ซึ่งจะจ่ายชดเชยมากหรือน้อยตามลักษณะและรูปแบบการแตกหรือหักของกระดูก
2. การประกันโรคร้ายแรง
ความคุ้มครองประเภทนี้ บริษัทประกันจะจ่ายค่าชดเชยให้เป็นเงินก้อนเมื่อตรวจพบโรคร้ายแรงตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท จำนวนโรคที่คุ้มครองก็มากน้อยต่างกัน บางบริษัทให้ความคุ้มครองถึง 44 โรคเลยก็มี
3. การประกันดูแลระยะยาว
การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้ทำประกันภัยไม่สามารถทำภารกิจในชีวิตประจำวันอย่างน้อย 3 ใน 6 อย่างประกอบด้วย การเปลี่ยนจากนอนไปนั่ง การเดิน การแต่งกาย การอาบน้ำชำระล้างร่างกาย การรับประทานอาหาร ซึ่งต้องเป็นต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า180 วัน หรือมีข้อบ่งชี ทางการแพทย์ชัดเจน
ลดหย่อนไม่ได้
1. การชดเชยการขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
2. การชดเชยการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
3. ความคุ้มครองจาการที่ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันต่อไปได้เนื่องจาก เสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือ เป็นโรคร้ายแรง
ความคุ้มครองสุขภาพบางรายการอาจมีทั้งส่วนที่ลดหย่อนได้และไม่ได้อยู่ในตัวเดียวกัน ซึ่งเบี้ยประกันไม่สามารถนำมาใช้สิทธิ์ได้เต็มจำนวน วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทราบว่าเราได้สิทธิ์ลดหย่อนเท่าไหร่ ให้ติดต่อบริษัทประกันเพื่อขอ “หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกัน” ซึ่งจะระบุจำนวนเงินไว้เลยว่าสามารถลดหย่อนได้เท่าใด เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีนะครับ
พัชภัคกร สุรรัตน์ FChFP : Financial Advisor
Facebook : Financial สบาย สบาย
Blockdit : www.blockdit.com/financial.sabai
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น