“เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ต้องทำประกัน”
“เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ต้องทำประกัน”
เร็วๆนี้พี่ท่านหนึ่งมาคุยกับผมว่า...ลูกค้าบอกว่า “ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี อย่าเพิ่งมาคุยเรื่องประกันนะ” เลยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ประกันควรทำเฉพาะช่วงเศรษฐกิจดีจริงเหรอ?
จริงๆแล้วไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังเกิดขึ้นอยู่นะครับ
ค่าใช้จ่ายประจำ
ในแต่ละวันแต่ละเดือน เราจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอยู่ประจำและหลายอย่างก็ไม่สามารถจะปรับให้ลดลงหรือตัดทิ้งไปได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าเดินทาง ฯลฯ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการจัดการและวางแผนรายได้รายจ่ายมากขึ้น สำหรับคนโสดไม่มีภาระที่ต้องดูแลใครก็อาจจะทำได้ง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นคนที่มีครอบครัวที่ต้องดูแลก็ต้องคิดด้วยนะครับว่า...ขนาดเราเองยังรู้สึกว่าเหนื่อย แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเราล่ะ คนที่ต้องพึ่งพาเราจะไม่ยิ่งเหนื่อยกว่าหลายเท่าเหรอครับ? ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่สนหรอกครับว่าใครจะเป็นคนจ่าย แต่ก็ “ต้องมีคนจ่าย” ถ้าวันหนึ่งที่ไม่มีเรา ก็ต้องมีคนจ่าย แต่...จะเป็นใครล่ะครับ? ไม่ว่าจะเป็นใคร คนๆนั้นก็คงจะเหนื่อยกว่าเราตอนนี้แน่นอน
ค่าเทอมลูก
นี่ก็เป็นค่าใช้จ่ายอีกประเภทหนึ่งที่ไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ ช่วงที่บางคนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็ยังมีหลายโรงเรียนที่ขึ้นค่าเทอมให้เห็น โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6% ต่อปี นั่นคือ...จะมากขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 12 ปี และมันจะไม่สนใจเหมือนกันว่าใครจะเป็นคนจ่าย แต่มันรู้ว่า “ต้องมีคนจ่าย” วันนี้ “เรา” เป็นคนจ่าย แต่ถ้าไม่มีเรา “ใคร” จะเป็นคนจ่าย? แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ “ถ้าไม่มีเงินจ่าย” จะเกิดอะไรขึ้น?
ค่ารักษาพยาบาล
ส่ิงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถที่จะระบุไว้ในแผนการเงินได้ว่า...จะเกิดขึ้นวันไหนและจะเป็นจำนวนมากเท่าไหร่ ถ้าคนมันจะป่วย ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ต้องป่วย จริงไม๊ครับ? แล้วถ้าป่วยก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ป่วยน้อยก็จ่ายน้อย แต่ถ้าป่วยมากก็ต้องจ่ายมาก และยิ่งถ้าเป็นโรคร้ายแรงที่มีค่ารักษาแพงและใช้ระยะเวลารักษานานล่ะครับ พวกเราคงจินตนาการออกว่าจะเป็นยังไงนะครับ แต่สิ่งที่ต้องคิดคือ...เราจะเอาเงินจากส่วนไหนมาจ่าย?
เงินออม
เคยได้ยินหลายคนพูดว่า...ทุกวันนี้เราทำงานหาเงินมาให้กับคนอย่างน้อย 2 คน คนๆนั้น คือ ตัวเราเองในปัจจุบัน และ ตัวเราเองตอนเกษียณ นั่นคือ เราจะต้องจัดสรรเงินมาเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ในวัยพักผ่อน เศรษฐกิจดีก็เก็บ แล้วถ้าเศรษฐกิจไม่ดีจะไม่เก็บใช่ไม๊ครับ? ถึงแม้จะเก็บหรือไม่เก็บ เก็บมากหรือเก็บน้อย เก็บจนพอหรือไม่พอ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่กำลังรออยู่ในอนาคตแน่นอน และมันจะไม่เท่าจำนวนที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ เพราะจะมากขึ้นตามเงินเฟ้ออีกด้วย
มีอยู่ 3 วิธีในการจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้
ค่อยไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ถ้าป่วยก็ไปใช้ประกันสังคมหรือสวัสดิการจากที่ทำงาน แต่ถ้าป่วยมากๆจนทำงานไม่ได้แล้วเขาก็คงไม่จ้างเราต่อ ก็ไปใช้บัตรทองไปตามสภาพ นอนห้องรวมกับคนไข้อื่นๆไป หรืออาจดึงจากเงินกองอื่นมาใช้ เช่น เงินเกษียณ เงินค่าเทอมลูก ฯลฯ หรือถ้าเกิดอะไรขึ้นจนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อบนโลกใบนี้ได้ ก็ปล่อยให้คนที่เหลืออยู่หาทางใช้ชีวิตกันไปเอง จะทุกข์จะสุขก็เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินอยู่ ค่าเทอมลูก ก็ไปหากันต่อเองนะ เราทำบุญมาด้วยกันแค่นี้ นับจากวันนี้...ตัวใครตัวมัน
เตรียมเงินสดๆไว้ล่วงหน้าเลย
คำนวณกันเลยครับว่า ถ้าเราไม่อยู่จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ยังต้องมีอยู่ ค่าเทอมลูกจนกว่าจะเรียนจบเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ไปจนสิ้นอายุขัย ค่ารักษาพยาบาลที่สามารถรักษาได้ทุกโรค ฯลฯ แล้วก็เตรียมเงินจำนวนนี้ทั้งหมดมาเก็บไว้ในที่ๆปลอดภัยที่สุด ถึงจะเป็นจำนวนมากแค่ไหนก็ต้องหามาเตรียมไว้ให้ได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เงินก็สามารถหยิบออมมาใช้ได้ทันที
ทำประกันและวางแผนการเงิน
ประกันคุ้มครองค่าใช้จ่าย :
จัดสรรแบ่งเงินจำนวนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำปี เป็นจำนวนไม่มาก ประมาณ 2-3% ของค่าใช้จ่ายประจำล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี และค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกจนเรียนจบมาทำประกันชีวิตที่มี “ทุนประกันชีวิต” อย่างน้อยเท่ากับค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด หากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา ครอบครัวยังอยู่ได้ ลูกยังได้เรียน พ่อแม่ยังมีเงินใช้
ประกันสุขภาพ :
การทำประกันสุขภาพเป็นการจัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลที่เราไม่รู้ล่วงหน้าให้มาอยู่ในแผนการเงิน โดยลดขนาดมันลงมาก่อนให้อยู่ในรูปของเบี้ยประกัน เราจะรู้ก่อนเลยว่าเบี้ยประกันที่จะต้องจ่ายในปีต่อๆไปเป็นเงินเท่าไหร่ แต่เราไม่มีทางรู้ว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริงมันจะมากมายขนาดไหน
วางแผนการเกษียณ :
ตอนนี้สินค้าของบริษัทประกันชีวิตบางแห่งก็ไม่ได้มีแค่ประกันเท่านั้น แต่ได้มีสินค้าที่นำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินมาบริการลูกค้าด้วย เช่น Unit-linked เราสามารถใช้สินค้าประเภทนี้ในการวางแผนเกษียณ ไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ แต่เป็นการทะยอยเก็บที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ทำให้แผนการเกษียณบรรลุเป้าหมายได้
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เราจะยังอยู่หรือไม่อยู่ ก็จะมีค่าใช้จ่ายหลายประเภทเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้วล่ะครับว่าจะใช้วิธีไหนในการจัดการ
พัชภัคกร สุรรัตน์ : Financial Advisor
Facebook : www.facebook.com/financial.sabai
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น