ไม่มีเงินเก็บเลย ทำยังไงดี?
ไม่มีเงินเก็บเลย ทำยังไงดี?
พฤติกรรมการใช้เงินที่พบเห็นได้ทั่วๆไปก็คือ พอถึงวันที่เงินเดือนออกก็ออกไปกินดื่มฉลองกับเพื่อนฝูง เข้า Supermarket เพื่อซื้อของเข้าบ้าน บางคนก็ซื้อของที่อยากได้ (แต่ก็ไม่รู้ว่าจำเป็นจริงๆหรือเปล่า) จ่ายหนี้บัตรเครดิต ค่าเดินทาง ค่าอาหารการกิน ค่าน้ำ ค่าไฟ และอีกสารพัดรายจ่าย
โดยคิดว่า... "ถ้ามีเงินเหลือ" ก็จะนำเป็นเงินเก็บเงินออม
แต่สุดท้ายหลายคนมักจะพบว่า... "ไม่มีเงินเหลือ" มาออมเลยสักเดือน
เราจะไม่มีทางได้เริ่มวางแผนการเงินเลยหากพฤติกรรมในการใช้จ่ายยังเป็นเช่นนี้ บางคนอาจเคยได้ยินหรือรู้ว่าเมื่อได้รายได้มาก็ต้องแบ่งมาออมก่อนแล้วจึงค่อยใช้ส่วนที่เหลือ แต่ตอนนี้ก็ใช้เดือนชนเดือนอยู่แล้วจะเอาที่ไหนมาออม อืม..แต่ถ้ามันทำได้ก็คงจะดีนะ
ลองมาดูกันครับว่ามันยากเกินกว่าที่จะทำหรือเปล่า สิ่งที่เราจะต้องทำคือ "กลับสมการ"
สมการการเงินของคนทั่วๆไปคือ...
รายได้ - รายจ่าย = เงินออม
นั่นคือ... ได้เงินมาแล้วนำมาใช้ก่อน ถ้ามีเหลือก็จะนำมาออม ซึ่งโดยทั่วไปมักจะไม่มีเงินเหลือมาออมกันเลย
ก่อนอื่นเราจะต้องจัดระเบียบ "รายจ่าย" เป็นอย่างแรก โดย...
1. ลิสท์รายจ่ายใน 1 เดือนของเรามาทั้งหมด แบ่งเป็น รายจ่ายที่จำเป็น และ รายจ่ายที่ไม่ค่อยจำเป็น
2. ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจริงๆออกไป เช่น ค่าซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย การสังสรรค์ที่มากเกินไป ฯลฯ
3. ตัดรายจ่ายที่เราสามารถเปลี่ยนการใช้ชีวิตบางอย่างเพื่อให้มีเงินเหลือมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนหรือวางแผนการเดินทางให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ลดปริมาณการซื้อกาแฟในแต่ละวัน ปิดแอร์ก่อนเวลาปกติครึ่งชั่วโมงฯลฯ
สิ่งสำคัญคือ...อย่าตัดจนทำให้ชีวิตไม่เหลือความสุขเลย เพราะนั่นจะทำให้เราเบื่อและล้มเลิกในเวลาไม่นาน
ตอนนี้เราก็จะได้ตัวเลข "รายจ่าย" ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต นำรายจ่ายนี้มาลบออกจาก "รายได้" สิ่งมหัศจรรย์ใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือ "เงินออม" เมื่อได้ตัวเลขครบทั้ง 3 ตัวแล้วก็มาทำการ "กลับสมการ"
สมการทางการเงินใหม่ของเราจะเป็น
รายได้ - เงินออม = รายจ่าย
นั่นคือ...เมื่อได้รายได้มาก็นำเงินในจำนวนที่เท่ากับเงินออมที่เราได้คำนวณไว้ในตอนแรกไปเก็บเสียก่อน เงินที่เหลือก็นำมาใช้จ่ายซึ่งเราสามารถถลุงใช้มันให้หมดเลยก็ได้ครับ ไม่ต้องกังวล
เงินออมควรนำไปแบ่งเก็บไว้อย่างน้อย 3 แหล่ง คือ
1. แหล่งที่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันทีเมื่อฉุกเฉิน เช่น ฝากธนาคาร เป็นต้น จนกว่าจะมีจำนวนประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน
2. แหล่งที่จะสามารถทำให้เงินเจริญเติบโตขึ้นได้ในอนาคต เช่น กองทุนรวม เป็นต้น และนี่จะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่งและการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
3. ทำประกัน ชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สิน เพื่อลดความเสี่ยงของกระแสเงินสด
แต่มีสิ่งหนึ่งที่จะต้องมีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง คือ "วินัยทางการเงิน" ต้องไม่ไขว้เขวจากสิ่งเร้าต่างๆที่มีอยู่ทั่วไป
พัชภัคกร สุรรัตน์ FChFP, ChLP
Financial Advisor
www.facebook.com/financial.sabai
#วางแผนการเงิน #FinancialPlanning
#นักวางแผนการเงิน #ที่ปรึกษาการเงิน
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น