คอร์สเรียนออนไลน์

ข่าว และ บทความ


เคย”ตรวจสุขภาพประจำปี”กันไหมครับ?

11 เมษายน 2565 Admin01 SPIDER 0 บทความ

Expert Financial by Bom

เคย”ตรวจสุขภาพประจำปี”กันไหมครับ?

เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อต้องการเช็คว่าร่างกายเรานั้นมีความปกติสมบูรณ์อยู่หรือเปล่า มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค

แล้วเรื่องการเงินล่ะครับ...

คุณเคย ”ตรวจสุขภาพทางการเงิน” กันบ้างไหม?

การตรวจสุขภาพทางการเงิน ก็มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะการตรวจสุขภาพทางการเงินนั้น จะบ่งบอกว่า ณ ปัจจุบัน คุณมีสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร?

วันนี้ผมเอาวิธีการตรวจสุขภาพทางการเงินอย่างง่ายมาฝาก 3 วิธีครับ

วิธีที่ 1. ตามอายุ :

เราจะดูว่าถ้าเราอายุเท่านี้ เราควรจะมีสินทรัพย์เท่าไหร่?

เช่น นาย A อายุ 40 ปี มีรายได้ต่อปี 2,000,000 บาท

นาย A ควรจะมีสินทรัพย์เท่ากับ 1/10 x 40 x 2,000,000 = 8,000,000 บาท

สรุป คือ นาย A อายุ 40 ปี ณ ตอนนี้เขาควรจะมีสินทรัพย์รวมอย่างน้อย 8,000,000 บาท

วิธีที่ 2. ตามรายได้ :

วิธีนี้จะแบ่งออกเป็น 2 อัตราส่วน (ทั้ง 2 อัตราส่วน คำตอบที่ได้ควร >1)

2.1. อัตราส่วนการอยู่รอด(Survival Ratio) จะบ่งบอกว่า ณ ปัจจุบันเขามีรายได้รวม (ทั้ง Active & Passive Income) เมื่อเทียบกับรายจ่าย แล้วเขาจะอยู่รอดได้หรือไม่

เช่น นาย B มีรายได้จาก Active Income เดือนละ 50,000 บาท และรายได้จาก Passive Income เดือนละ 10,000 บาท เท่ากับว่านาย B มีรายได้รวมเดือนละ 60,000 บาท และเขามีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท

เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวไปใส่ในอัตราส่วน Survival Ratio จะได้ออกมาดังนี้

(50,000 + 10,000) / 30,000 = 2

คำตอบออกมาคือ 2 แปลว่าเขาสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ยังมีรายได้จากทั้ง 2 ทาง (Active & Passive Income)

แต่ถ้าต้องการดูว่าเขามั่งคั่งหรือไม่ ให้ตัดรายได้ส่วนที่เป็น Active Income ออก เหลือเพียงแค่รายได้จาก Passive Income เพียงอย่างเดียว

นั่นคืออัตราส่วนที่ 2

2.2. อัตราส่วนความมั่งคั่ง(Wealth Ratio)

จากสถานการณ์ของนาย B เมื่อนำตัวเลขไปใส่ในอัตราส่วน Wealth Ratio จะได้ออกมาดังนี้

10,000 / 30,000 = 0.33 นั่นแสดงให้เห็นว่า นาย B ยังไม่มั่งคั่ง เพียงแค่สามารถอยู่รอดได้

แปลว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาไม่มีรายได้จาก Active Income แล้ว รายได้ส่วนที่เหลือจะไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตของเขา

วิธีที่ 3. ความมั่งคั่งสุทธิ :

ตามที่เคยได้เขียนเรื่องงบการเงินส่วนบุคคลไปแล้ว จะเห็นได้ว่า “งบดุลส่วนบุคคล” จะเป็นตัวแสดงถึงความมั่งคั่งสุทธิของคนๆ นั้น ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด

เช่น นาย C มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 15,000,000 บาท แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหนี้สินคงค้างอยู่ที่ 8,000,000 บาท นั่นแสดงให้เห็นว่า นาย C มีความมั่งคั่งสุทธิคือ 15,000,000 - 8,000,000 = 7,000,000 บาทนั่นเอง

เป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้

ลองทำดูนะครับ จะได้รู้ว่าปัจจุบันเรามีสุขภาพทางการเงินเป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยสถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของเรา หากพบปัญหาจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเรื้อรัง ที่สำคัญสามารถนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้น หรือข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนเพื่อให้มีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงต่อไปอย่างยั่งยืนได้อีกด้วยครับ

“เพียงแค่คุณเจอผม โลกการเงินของคุณจะเปลี่ยนไป”

#ExpertFinancial

#FinancialPlanner

#FChFP

#ChLP

ที่เกี่ยวข้อง ข่าว

ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น